เอี่ยม ทองดี (2542 : 5-6)
ได้กล่าวว่าภูมิปัญญามีลักษณะเป็นนามธรรมอย่างน้อยต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ
เหล่านี้ คือ
2.1 ความคิด
เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ที่เรียกว่า Cognitive
System ซึ่งประกอบด้วยระบบประสาท ระบบสมอง และต่อมต่าง ๆ
ทำหน้าที่คิดให้แก่ร่างกายและนักมานุษยวิทยาเชื่อว่าทำงานอยู่นอกเหนือจากการบงการของร่างกาย
หมายถึง
ทั้งส่วนที่เป็นจินตนาการและผลของการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรม
ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้จะเป็นแหล่งสำคัญหรือที่มาของความรู้อันเป็นองค์ประกอบของภูมิปัญญาในลำดับถัดไป
2.2 ความรู้ มีการนำมาใช้ในลักษณะต่าง
ๆ เช่น องค์ความรู้ ภูมิรู้ ปรากฏอยู่ในแนวคิด
ทฤษฏีญาณวิทยาที่ว่าด้วยทฤษฏีแห่งความรู้ การสืบค้นกำเนิดแห่งความรู้
และธรรมชาติของความรู้ การหาคำตอบว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่
หรือว่าความรู้เป็นเพียงการพิจารณาเทียบเคียง
ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและยังสืบค้นความรู้เรื่องกาล (Time) อวกาศ (Space) เนื้อสาร (Substance)
สัมพันธภาพ (Relation) และความเป็นเหตุเป็นผล
(Causality) องค์ความรู้เป็นหมวด ๆ (Category) ความรู้ หรือองค์ความรู้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาที่กล่าวข้างต้น
2.3 ความเชื่อ
เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของสังคมมนุษย์ มนุษย์แต่ละกลุ่มมีความเชื่อแตกต่างกันไป
ซึ่งความเชื่อก็คือความศรัทธาหรือยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการดำเนินชีวิตและความมั่นคงของสังคม ความเชื่อมีอยู่หลายระดับทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันอันเป็นความเชื่อโดยทั่วไป
และความเชื่อที่เกี่ยวกับวิญญาณ โลกนี้ โลกหน้า ความดี ความชั่ว นรก สวรรค์
บาปบุญคุณโทษ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในภูมิปัญญา
2.4 ค่านิยม คือ สิ่งที่คนสนใจ
ความปรารถนาอยากจะมี อยากจะเป็นที่ยกย่อง สรรเสริญ หรือเป็นสิ่งที่บังคับต้องทำ
ต้องปฏิบัติ มีความรักและมีความสุขเมื่อได้เห็นหรือได้สิ่งเหล่านั้นมา
ค่านิยมจึงเป็นพื้นฐานของการจัดรูปแบบพฤติกรรมที่ปรากฏอยู่ภายใน และแสดงออกเป็นพฤติกรรมในลักษณะต่าง
ๆ ทางกาย วาจา และความคิด โดยสรุปค่านิยมเป็นพื้นฐานสำคัญทางภูมิปัญญา
เป็นบ่อเกิดพฤติกรรมของบุคคลแต่ละสังคม
2.5 ความเห็น คือ
ภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากบุคคลหรือชุมชน
ได้พิจารณาและใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้วจึงลงมติตัดสินใจ
ว่าควรจะแสดงออกในลักษณะอย่างไร เช่น เห็นด้วย ทำตาม ยอมรับ ปฏิเสธ ร่วมมือ
กระทำหรือดำเนินการ ด้วยเห็นว่าดี ชั่ว เหมาะสม ไม่เหมาะสม เป็นบาป เป็นบุญ
เป็นต้น
ซึ่งความเห็นในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นภูมิปัญญาประการหนึ่งที่มีผลสำคัญยิ่งต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมาทั้งกาย
วาจา และจิตใจ
2.6 ความสามารถ หมายถึง
ศักยภาพและประสิทธิภาพที่มีอยู่ภายในบุคคล เช่น
ชุมชนในการที่จะจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งในลักษณะเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า “พรสวรรค์” ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะทางกายและจิตใจร่วมกัน
โดยแต่ละคนหรือชุมชนย่อมจะต้องมีแตกต่างกัน เช่น การที่บงคนสามารถปาฐกถาได้ดี ลำดับเนื้อหาและการแสดงทุกอย่างเป็นที่ชื่นชม
ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากความสามารถที่มีอยู่ในบุคคลนั้น ๆ
ฉะนั้นความสามารถจึงเป็นภูมิปัญญาอีกประการหนึ่ง
2.7 ความฉลาดไหวพริบ หมายถึง
ทักษะที่ปรากฏอยู่ภายในจิตใจ หรือจิตวิญญาณ
เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ไขป้องกันควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ
ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นหรือให้เป็นไป ตามที่ตนเองหรือชุมชนต้องการ
ดังนั้น
องค์ประกอบของภูมิปัญญาจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภูมิปัญญาที่มีอยู่เกิดคุณค่าแก่ความภาคภูมิใจซึ่งได้แก่
ความคิดที่เกิดจากการจินตนาการจากสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ในสังคม ความรู้อาจเกิดจากภูมิความรู้ที่ได้จากการทดสอบทดลองหลายครั้งจนได้ความรู้ที่แท้จริง
ความเชื่อถืออันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีบาปบุญคุณโทษ
และจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องค่านิยมที่คนในสังคมให้การยกย่องเชิดชูว่าเป็นสิ่งดีงาม
ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้มีการสืบทอดแก่ลูกหลาน
ความเห็นที่เกิดจากพิจารณารอบคอบจากชุมชนจนเกิดการยอมรับด้วยความจริงใจ
ความสามารถอันเกิดจากพรสวรรค์หรือจากการฝึกฝนจนสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้
ความฉลาดไหวพริบการแก้ไข เช่นกัน ย่อมเกิดขึ้นจากจินตนาการ ความรู้ ความสามารถ
ความเชื่อ และค่านิยม การสั่งสมประสบการณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
จนสามารถสร้างองค์ความรู้และสังเคราะห์ใหม่ให้มีความก้าวหน้าและนำมาใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภูมิปัญญาเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็น 3
ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คือ
1. ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันคือ
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช ธรรมชาติ
2. ความสัมพันธ์กับคนอื่น
ๆ ที่ร่วมกันในสังคมหรือในชุมชน
3. ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น